เว็บไซต์นี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี

การเข้าร่วมโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)


ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมลงทะเบียนสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ / เขต ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ โดยศึกษาหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ตามที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด

ลักษณะและคุณสมบัติของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ที่มีสิทธิลงทะเบียน
1. เป็นผู้ผลิต ดังต่อไปนี้
    1) กลุ่มผู้ผลิตชุมชน
    2) ผู้ผลิตชุมชนที่เป็นเจ้าของรายเดียว
    3) ผู้ผลิตที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
2. กลุ่มเป้าหมายตามข้อ 1 ต้องมีความเชื่อมโยงกับชุมชน โดยเข้าเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง ต่อไปนี้
    1) ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิต เช่น ใช้แรงงานในชุมชน (ภายในจังหวัดที่ขอลงทะเบียน) มีการใช้วัตถุดิบ การผลิตในชุมชน เป็นต้น
    2) ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ
    3) ชุมชนได้รับประโยชน์
3. สถานที่ผลิตของกลุ่มเป้าหมายตามข้อ 1 ต้องตั้งอยู่ภายในอำเภอ/เขต(กรุงเทพมหานคร)
4. ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และสมาชิกกลุ่มต้องมีสัญชาติไทย
5. กรณีส่งตัวแทนมาแจ้งการลงทะเบียน จะต้องเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจ (มีเอกสารมอบอำนาจ)

ลักษณะผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่สามารถลงทะเบียนได้ต้องแสดงถึงภูมิปัญญาไทยและมีลักษณะ ดังนี้
1. วัตถุดิบที่นำมาผลิต ต้องไม่ผิดกฎหมาย
2. ไม่เป็นสินค้าที่เลียนแบบ ดัดแปลง นำเข้า หรือนำเข้าเพื่อดัดแปลงหรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
3. ไม่เป็นสินค้าที่ก่ออันตรายอย่างร้ายแรงต่อชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม รวมทั้งไม่ขัดต่อขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อันดีของไทย
4. กรณีเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีกฎหมายบังคับต้องได้รับอนุญาตให้ผลิต

ประเภทผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาดำเนินการลงทะเบียน ต้องผ่านกระบวนการผลิต โดยใช้ภูมิปัญญา จำนวน 5 ประเภท ดังนี้
1. ประเภทอาหาร หมายถึง ผลผลิตทางการเกษตร และอาหารแปรรูป ซึ่งได้รับมาตรฐาน อย., GAP, GMP, HACCP, Qmark, มผช., มอก., มาตรฐานเกษตรอินทรีย์, ฮาลาล และมีบรรจุภัณฑ์ เพื่อการจำหน่ายทั่วไป แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
    1) ผลิตผลทางเกษตรที่ใช้บริโภคสด
    2) ผลิตผลทางการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบ และผ่านกระบวนการแปรรูปเบื้องต้น
    3) อาหารแปรรูปกึ่งสำเร็จรูป/สำเร็จรูป
2. ประเภทเครื่องดื่ม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
    1) เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
    2) เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์
3. ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
    1) ผ้า
    2) เครื่องแต่งกาย
4. ประเภทของใช้/ของตกแต่ง/ของที่ระลึก แบ่งเป็น 7 กลุ่ม
    1) ไม้
    2) จักสาน
    3) ดอกไม้ประดิษฐ์/วัสดุจากเส้นใยธรรมชาติ
    4) โลหะ
    5) เซรามิค/เครื่องปั้นดินเผา
    6) เคหะสิ่งทอ
    7) อื่น ๆ
5. ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร แบ่งเป็น 3 กลุ่ม
    1) ยาจากสมุนไพร
    2) เครื่องสำอางสมุนไพร
    3) วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน

มาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจากทางราชการ
ในการลงทะเบียน หากผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองมาตรฐานจากทางราชการ ให้ผู้มาลงทะเบียน ได้นำใบรับรองมาตรฐานจากทางราชการมาด้วย เพื่อกรอกข้อมูล และแสดงต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับลงทะเบียน ในกรณีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการยื่นขอการรับรองให้นำเอกสารที่แสดงรายละเอียดการยื่นขอดังกล่าวมาประกอบด้วย

กรมการพัฒนาชุมชน ได้กำหนดแผนปฏิบัติการลงทะเบียนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP แต่ละปีไว้ โดยสามารถติดต่อสำนักงานพัฒนาชุมชนได้ทุกแห่ง เพื่อสอบถามช่วงเวลาละทะเบียนในแต่ละไตรมาส
ระยะเวลาดำเนินการ ประมาณ 75 วัน
เอกสารที่ต้องใช้
1. สำเนาบัตรประชาชน
2. ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ (ถ้ามี)
3. หนังสือมอบอำนาจจากกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP
4. ภาพถ่ายผลิตภัณฑ์ทุกประเภทที่จะลงทะเบียน ขนาด 4"x6" หรือไฟล์ภาพดิจิตอล
5. เอกสารอนุญาตให้ทำการผลิต (กรณีมีกฎหมายกำหนด)
6. หนังสือรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่จะแจ้งให้ในแบบลงทะเบียน (ถ้ามี)
7. เอกสารการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน (ถ้ามี)
8. แบบฟอร์มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)
9. แบบฟอร์มผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)  

คู่มือสำหรับประชาชน การลงทะเบียนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โทร.02-141-6047

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 29 กุมภาพันธ์ 2559

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2567 ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ 2537 สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)

ศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐ