เว็บไซต์นี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี

ข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ


ประเทศไทยได้มีการเจรจาลงนามเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าหลายประเทศ ทั้งในรูปแบบทวิภาคี และพหุภาคี ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสในการดำเนินธุรกิจ และใช้ประโยชน์จากการจัดตั้งเขตการค้าเสรีได้อย่างเต็มที่

เขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) หมายถึง การรวมกลุ่มเศรษฐกิจโดยมีเป้าหมายเพื่อลดภาษีศุลกากรระหว่างกันภายในกลุ่มลงให้เหลือน้อยที่สุด หรือเป็น 0 % และใช้อัตราภาษีปกติที่สูงกว่ากับประเทศนอกกลุ่ม การทำเขตการค้าเสรีในอดีตมุ่งในด้านการเปิดเสรีด้านสินค้า (goods) โดยการลดภาษีและอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีเป็นหลัก แต่เขตการค้าเสรีในระยะหลังๆ นั้น รวมไปถึงการเปิดเสรีด้านบริการ (services) และการลงทุนด้วย 

หลักการในการจัดทำเขตการค้าเสรีของประเทศไทย 

  1. การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี ควรทำในกรอบกว้าง (Comprehensive) ครอบคลุมการเปิดเสรีทั้งการค้าสินค้าและบริการ และการลงทุน รวมทั้งการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างไรก็ตามควรมีความยืดหยุ่น (Flexibility) ให้สอดคล้องกับระดับการพัฒนาของประเทศคู่เจรจาเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย 
  2. การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีควรให้สอดคล้องกับกฎของ WTO ซึ่งมีเงื่อนไขให้การเปิดเสรีครอบคลุมการค้าสินค้า/บริการอย่างมากพอ (Substantial) สร้างความโปร่งใส และเปิดให้สมาชิกอื่นตรวจสอบความตกลง 
  3. การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี ควรยึดหลักการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ (Reciprocate) และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยคำนึงถึงสถานะของไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาในกรณีที่คู่เจรจาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ไทยควรเรียกร้องความยืดหยุ่นเพื่อให้มีเวลาในการปรับตัวนานกว่า หรือทำข้อผูกพันในระดับต่ำกว่า 
  4. การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี ควรให้ครอบคลุมเรื่องมาตรการสุขอนามัย และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีอื่นๆ (NTM) ด้วย 
  5. ความตกลงเขตการค้าเสรี ควรมีมาตรการต่างๆ เพื่อเป็นกลไกในการป้องกันผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในและหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามพันธกรณี เช่น มาตรการ AD, CVD การใช้มาตรการคุ้มกัน (Safeguards) การใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร ซึ่งทำให้การดำเนินการตามพันธกรณีไม่มีผลในการเปิดตลาด รวมทั้งกำหนดกลไกการยุติปัญหาหรือข้อพิพาทอย่างเป็นธรรม 
  6. ในการจัดทำเขตการค้าเสรีควรให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว ทั้งนี้ อาจมีการเจรจา ตกลงในเรื่องที่จะเป็นการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ระหว่างกันก่อน (Early Harvest)

ยุทธศาสตร์เขตการค้าเสรีของไทย
FTA รายประเทศ
ความคืบหน้าและสถานะเจรจาของไทยกับประเทศต่าง ๆ
สถานะการเจรจาร่าสุดและรายละเอียด
ค้นหาข้อมูลอัตราภาษี
สิทธิประโยชน์ทางภาษี

สอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ THAIFTA หรือ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0-2507-7444

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 29 กุมภาพันธ์ 2559

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ 2537 สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)

ศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐ