เว็บไซต์นี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี

4.การขอคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา


ส่วนนี้จะให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร และลิขสิทธิ์ ซึ่งผู้ประกอบการควรทราบเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง 

1. การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง และเครื่องหมายร่วม
2. สิทธิบัตร / อนุสิทธิบัตร
3. ลิขสิทธิ์


1. การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง และเครื่องหมายร่วม


ขั้นตอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง เครื่องหมายร่วม มีขั้นตอนโดยสังเขป ดังนี้
1. การตรวจค้น ก่อนยื่นคำขอจดทะเบียน ผู้ขอจดทะเบียนควรตรวจค้นเครื่องหมายของตนที่ประสงค์จะยื่นขอจดทะเบียนว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วหรืออยู่ระหว่างขอจดทะเบียนหรือไม่ โดยตรวจค้นด้วยตนเองได้ที่กลุ่มบริการตรวจรับคำขอ ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ ต้องชำระค่าธรรมเนียม 100 บาท ต่อชั่วโมง หรือทางอินเตอร์เน็ตผ่าน ระบบเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา  อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ขอจดทะเบียนยื่นคำขอจดทะเบียนแล้ว เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบเครื่องหมายและพิจารณาคำขอจดทะเบียนโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
2. การยื่นคำขอจดทะเบียน ผู้ขอจดทะเบียนจะต้องจัดเตรียมคำขอจดทะเบียน (แบบ ก.01) โดยกรอกแบบคำขอให้ครบถ้วนโดยการพิมพ์ และแนบหลักฐานประกอบคำขอ (โปรดดูหัวข้อเอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า) พร้อมชำระค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอจดทะเบียนสินค้าหรือบริการ อย่างละ 500 บาท สามารถยื่นคำขอได้ 4 ช่องทาง คือ 1) กลุ่มบริการตรวจรับคำขอ ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ 2) สำนักงานพาณิชย์จังหวัด 3) ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ และ 4) ทางอินเตอร์เน็ตผ่านระบบเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา
3. การเตรียมคำขอและเอกสารประกอบ


3.1 คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองและเครื่องหมายร่วมให้ใช้แบบ ก. 01
3.2 สำเนาคำขอจดทะเบียน (แบบ ก. 01) จำนวน 5 ฉบับ
3.3 รูปเครื่องหมายที่ขอจดทะเบียน ขนาดไม่เกิน 5 X 5 เซนติเมตร จำนวน 5 รูป ทั้งนี้ หากเกินต้องชำระค่าธรรมเนียม เซนติเมตรละ 100 บาท
3.4 บัตรประจำตัวของเจ้าของ
    3.4.1 บุคคลธรรมดา ให้ใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรประจำตัวอื่นๆ ที่ทางราชการออกให้ หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง จำนวน 1 ฉบับ
    3.4.2  นิติบุคคล ให้ใช้ต้นฉบับหนังสือรับรองนิติบุคคลที่ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 1 ฉบับ
3.5 หนังสือตั้งตัวแทน หรือหนังสือมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทนเจ้าของ)
    3.5.1 กรณีการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจได้กระทำในประเทศไทย ให้แนบเอกสาร ดังนี้
        (1) สำเนาหนังสือตั้งตัวแทนหรือหนังสือมอบอำนาจ (แบบ ก. 18)
        (2) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรประจำตัวอื่นๆ ที่ทางราชการออกให้ หรือต้นฉบับหนังสือรับรองนิติบุคคลที่ออกให้ไม่เกิน 6 เดือนของตัวแทน แล้วแต่กรณี
        (3) หากผู้ตั้งตัวแทนหรือผู้มอบอำนาจมิได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ให้แนบสำเนาหนังสือเดินทาง หรือสำเนาหนังสือรับรองถิ่นที่อยู่ชั่วคราว หรือหลักฐานอื่นที่แสดงให้เห็นว่าในขณะตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ ผู้นั้นได้เข้ามาในประเทศไทยจริง
    3.5.2 กรณีการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจได้กระทำในต่างประเทศ ให้แนบเอกสารดังนี้
        (1) สำเนาหนังสือตั้งตัวแทนหรือหนังสือมอบอำนาจที่มีคำรับรองลายมือชื่อ โดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทย หรือหัวหน้าสำนักงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งประจำอยู่ ณ ประเทศที่ผู้ตั้งตัวแทนหรือผู้มอบอำนาจมีถิ่นที่อยู่ หรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายให้กระทำการแทนบุคคลดังกล่าว หรือมีคำรับรองของบุคคลซึ่งกฎหมายของประเทศนั้น ให้มีอำนาจรับรองลายมือชื่อ
        (2) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรประจำตัวอื่นๆ ที่ทางราชการออกให้ หรือต้นฉบับหนังสือรับรองนิติบุคคลที่ออกให้ไม่เกิน 6 เดือนของตัวแทน แล้วแต่กรณี

ข้อพึงระวัง 
1. กรณีผู้ขอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล (อาทิ บริษัท ห้างหุ้นส่วน) ให้ระบุชื่อเจ้าของในแบบ ก.01 เป็นชื่อนิติบุคคล มิใช่ชื่อกรรมการของนิติบุคคลดังกล่าว
2. หากมีการดำเนินการในนามของนิติบุคคล เช่น การยื่นคำขอจดทะเบียน การมอบอำนาจ เป็นต้น ต้องมีการลงลายมือชื่อโดยกรรมการผู้มีอำนาจลงนามและประทับตราสำคัญตามข้อกำหนดในหนังสือรับรองนิติบุคคล
3. กรณีเป็นกลุ่มแม่บ้าน วิสาหกิจชุมชน หรือองค์กรอื่นใด ที่ไม่ใช่นิติบุคคลหากต้องการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จะต้องยื่นในนามประธานกลุ่มหรือผู้แทนที่กลุ่มมอบหมายให้ดำเนินการเป็นเจ้าของในนามของบุคคลธรรมดา เช่น นางทรัพย์สิน ปัญญา (ประธานกลุ่มแม่บ้าน.................) เป็นต้น พร้อมแนบรายงานการประชุมของกลุ่มที่มีการมอบหมายให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว
4. หากนำลายมือชื่อของบุคคลอื่นมาเป็นเครื่องหมายการค้า จะต้องมีหนังสือให้ความยินยอมประกอบคำขอจดทะเบียนด้วย
5. หากนำภาพของผู้ขอจดทะเบียนมาเป็นเครื่องหมายการค้า ผู้ขอจะต้องทำหนังสือแสดงเจตนาที่จะใช้ภาพของตนเองเป็นเครื่องหมายการค้าด้วย กรณีนำภาพของบุคคลอื่นมาใช้จะต้องมีหนังสืออนุญาตจากเจ้าของให้ใช้ภาพดังกล่าว หากเป็นภาพของบุคคลที่ตายแล้วจะต้องมีหนังสืออนุญาตจากบุพการี ผู้สืบสันดาน และคู่สมรส (ถ้ามี) ให้ใช้ภาพดังกล่าว
6. การระบุรายการสินค้าและบริการในคำขอจดทะเบียน (แบบ ก.01) ผู้ขอควรดูจากรายการสินค้าและบริการที่กรมฯ ได้จัดทำไว้เป็นหลัก โดยดูจาก รายการสินค้าและบริการ
7. หากเครื่องหมายที่ยื่นขอจดทะเบียนเป็นภาษาต่างประเทศ ให้ระบุคำอ่านและคำแปลตามพจนานุกรมให้ครบถ้วน สำหรับภาษาจีนให้ระบุคำอ่านและคำแปลทั้งตามสำเนียงจีนกลางและแต้จิ๋ว

รายละเอียดเพิ่มเติม ค่าธรรมเนียม เอกสารหลักฐานประกอบ วิธีการและสถานที่ยื่นคำขอจดทะเบียน เครื่องหมายการค้า
ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม
คู่มือสำหรับประชาชน
ดาวน์โหลดเอกสารคู่มือสำหรับประชาชน
ระบบจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trading e-filing) 
ขั้นตอนการรับจด/แจ้งทรัพย์สินทางปัญญา สำหรับเครื่องหมายการค้า หน้า 3-5


2. สิทธิบัตร / อนุสิทธิบัตร

สิทธิบัตร (Patent) หมายถึง หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ (Invention) หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด เป็นสิทธิพิเศษ ที่ให้ผู้ประดิษฐ์คิดค้นหรือผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ มีสิทธิที่จะผลิตสินค้า จำหน่ายสินค้าแต่เพียงผู้เดียว ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การประดิษฐ์ (Invention) หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับ ลักษณะองค์ประกอบ โครงสร้างหรือกลไกของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิตการรักษา หรือปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น หรือทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ขึ้นใหม่ ที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น กลไกของเครื่องยนต์ ,ยารักษาโรค, ,วิธีการในการเก็บรักษาพืชผักผลไม้ไม่ให้เน่าเสียเร็วเกินไป เป็นต้น 

อนุสิทธิบัตร (Petty Patent) คือ หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์จะมีลักษณะคล้ายกันกับการประดิษฐ์ แต่เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่มีระดับการพัฒนาเทคโนโลยีไม่สูงมาก หรือเป็นการประดิษฐ์คิดค้นเพียงเล็กน้อย และมีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น (..อ่านต่อ)

สนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร หรือ PCT คือ PCT ย่อมาจาก Patent Cooperation Treaty เป็นความตกลงระหว่างประเทศสำหรับการขอรับความคุ้มครองการประดิษฐ์ในประเทศที่เป็นสมาชิก เพื่ออำนวยความสะดวก และลดภาระของผู้ขอรับสิทธิบัตร แทนที่จะต้องไปยื่นคำขอรับสิทธิบัตรในประเทศต่าง ๆ แต่ละประเทศที่ผู้ขอประสงค์จะขอรับความคุ้มครอง โดยสามารถที่จะยื่นคำขอที่สำนักงานสิทธิบัตรภายในประเทศ ของตน สำนักงานสิทธิบัตรก็จะส่งคำขอไปดำเนินการตามขั้นตอนของระบบ PCTที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO)
ระบบ PCT นี้ไม่ได้เป็นระบบการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรที่จะส่งผลให้ประเทศที่เป็นสมาชิกต้องรับจดทะเบียนตามไปด้วย เนื่องจาก ระบบ PCT จะมีการดำเนินการในขั้นตอนต้น ๆ ของการขอรับสิทธิบัตรเท่านั้น ไม่มีการรับจดทะเบียนแต่อย่างใด การรับจดทะเบียนสิทธิบัตร PCT เป็นอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศที่ผู้ขอประสงค์จะขอความคุ้มครอง ซึ่งจะมีการตรวจสอบตามขั้นตอนและเงื่อนไขของกฎหมายภายในประเทศนั้น ๆ ก่อนรับจดทะเบียนสิทธิบัตรต่อไป (..อ่านต่อ)


เครื่องมือสิทธิบัตร และสิงก์ที่เกี่ยวข้อง
(ระบบสืบค้นสิทธิบัตร / อนุสิทธิบัตร | สนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (PCT) | คู่มือตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตรปี 2555 | คู่มือตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตร (ด้านเคมี และเภสัชภัณฑ์) | รายการประกาศโฆษณาสิทธิบัตรยา ตั้งแต่ปี 2542 | การใช้ผลการตรวจสอบสิทธิบัตรของกลุ่มประเทศอาเซียน | PPH (Patent Prosecution Highway) ความร่วมมือระหว่างสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาโดยญี่ปุ่น | การยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตร / อนุสิทธิบัตรผ่านทางอินเตอร์เน็ต (e-Filling)
ระบบงานจดทะเบียนสิทธิบัตร / อนุสิทธิบัตร
ระบบสืบค้นสิทธิบัตรทั่วโลก

ขั้นตอนการรับจด/แจ้งทรัพย์สินทางปัญญา สำหรับเครื่องหมายการค้า หน้า 6-7


3. ลิขสิทธิ์

กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองแก่งานสร้างสรรค์ 9 ประเภทตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่
1. งานวรรณกรรม (หนังสือ จุลสาร สิ่งพิมพ์ คำปราศรัย โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ)
2. งานนาฎกรรม (ท่ารำ ท่าเต้น ฯลฯ)
3. งานศิลปกรรม (จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย ศิลปประยุกต์ ฯลฯ)
4. งานดนตรีกรรม (ทำนอง ทำนองและเนื้อร้อง ฯลฯ)
5. งานสิ่งบันทึกเสียง (ซีดี) 
6. งานโสตทัศนวัสดุ (วีซีดี ดีวีดี ที่มีภาพหรือมีทั้งภาพและเสียง)
7. งานภาพยนตร์ 
8. งานแพร่เสียงแพร่ภาพ 
9. งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ


การแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา มิได้ เป็นการรับรองสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์แต่อย่างใด แต่เป็นเพียงการแจ้งต่อหน่วยงานราชการว่าตนเองเป็นเจ้าของสิทธิ์ในผลงานลิขสิทธิ์ที่แจ้งไว้เท่านั้น โดยผู้แจ้งต้องรับรองตนเองว่าเป็นเจ้าของผลงานที่นำมาแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ และหนังสือรับรองที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกให้ ก็มิได้รับรองว่าผู้แจ้งเป็นเจ้าของงานลิขสิทธิ์แต่อย่างใด หากมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ผู้แจ้งจำเป็นต้องพิสูจน์ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ นั้นเอง

วิธีดำเนินการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์    

1. การกรอกข้อมูลและระบุรายละเอียดต่างๆ 
    (1) ชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์  ให้ระบุชื่อ สัญชาติ  หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือนิติบุคคล (แล้วแต่กรณี) และที่อยู่ของเจ้าของลิขสิทธิ์
    (2) ชื่อตัวแทน กรณีที่เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องการมอบอำนาจให้กับผู้รับมอบอำนาจมาดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์รวมทั้งระบุถึงขอบเขตอำนาจของผู้รับมอบอำนาจ โดยให้ระบุ ชื่อ สัญชาติ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือนิติบุคคล (แล้วแต่กรณี) และที่อยู่ของผู้รับมอบอำนาจ
    (3) สถานที่ติดต่อในประเทศไทย ให้ระบุสถานที่และเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อเจ้าของสิทธิหรือตัวแทน เพื่อสะดวกในการติดตามเอกสาร และผลงานกรณีเอกสารและผลงานไม่ครบถ้วน
    (4) ชื่อผู้สร้างสรรค์หรือนามแฝง ให้ระบุชื่อ สัญชาติ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือนิติบุคคล ที่อยู่ผู้สร้างสรรค์ นามแฝง กรณีผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคลให้ระบุ วัน เดือน ปี ที่จดทะเบียนนิติบุคคล และกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิตแล้วให้ระบุ วัน เดือน ปี ที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต
    (5) ชื่อผู้สร้างสรรค์ร่วมหรือนามแฝง ให้ระบุชื่อ สัญชาติ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือนิติบุคคล ที่อยู่ของผู้สร้างสรรค์หรือนามแฝง กรณีมีผู้สร้างสรรค์ร่วมมากกว่า 1 คน ให้ระบุในช่องนี้ กรณีผู้สร้างสรรค์ร่วมเป็นนิติบุคคล ให้ระบุ วัน เดือน ปี ที่จดทะเบียนนิติบุคคล และกรณีที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมเสียชีวิตแล้ว ให้ระบุ วัน เดือน ปี ที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต
    (6) ชื่อผลงานให้ระบุชื่อผลงานที่สะกดถูกต้อง เพื่อประโยชน์ในการระบุในหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูล
    (7) ประเภทของงาน ให้ระบุประเภทของงานและลักษณะงานที่ประสงค์จะยื่นแจ้งข้อมูลพร้อมระบุผลงานที่ยื่นประกอบคำขอ เช่น  หนังสือ 1 เล่ม หรือแผ่นซีดี 1 แผ่น  ฯลฯ  เป็นต้น 
    (8) ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้ระบุว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยวิธีใด เช่น เป็นผู้สร้างสรรค์ ผู้ว่าจ้าง ผู้รับจ้าง นายจ้าง หรือผู้รับโอนลิขสิทธิ์ ฯลฯ เป็นต้น
    (9) ลักษณะการสร้างสรรค์ ให้ระบุว่า เป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นเองทั้งหมด สร้างสรรค์บางส่วน โดยระบุว่ามีส่วนใดบ้าง หรือเป็นกรณีอื่น ๆ เช่น เป็นผู้รวบรวมผลงาน หรือผู้ดัดแปลงผลงาน ฯลฯ 
    (10) สถานที่สร้างสรรค์ ให้ระบุว่า การสร้างสรรค์ผลงานกระทำในประเทศใด
    (11) ปีที่สร้างสรรค์ ให้ระบุปีที่ทำการสร้างสรรค์ผลงาน
    (12) การโฆษณางาน ให้ระบุ วัน เดือน ปี และประเทศที่มีการโฆษณาครั้งแรก โดยการทำสำเนางานออกจำหน่ายโดยความยินยอมของผู้สร้างสรรค์และสำเนางานมีจำนวนมากพอสมควร กรณียังไม่มีการโฆษณางานให้ระบุโดยทำเครื่องหมายในช่องยังไม่ได้โฆษณา
    (13) การแจ้ง/จดทะเบียนลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ ให้ระบุว่าเคยแจ้ง/จดทะเบียนลิขสิทธิ์ในต่างประเทศหรือไม่ โดยให้ทำเครื่องหมายลงในช่องการแจ้งหรือจดทะเบียน (แล้วแต่กรณี)
    (14) การอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์/โอนลิขสิทธิ์ ให้ระบุเครื่องหมายลงในช่องว่าเคยอนุญาต/โอนลิขสิทธิ์หรือไม่ เช่น หากไม่เคยอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์/โอนลิขสิทธิ์  ให้ทำเครื่องหมายในช่องไม่เคยอนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์หรือโอนลิขสิทธิ์ในงานของตน  หากเคยอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์/โอนลิขสิทธิ์ ให้ระบุว่าอนุญาตให้ใช้หรือโอนลิขสิทธิ์แก่ใคร เมื่อใด เป็นการอนุญาตโอนลิขสิทธิ์โดยให้สิทธิทั้งหมดหรือบางส่วน และมีระยะเวลาในการอนุญาต/โอนลิขสิทธิ์เท่าใด 
    (15) การเผยแพร่ข้อมูลลิขสิทธิ์ ให้ระบุว่าอนุญาตให้คนอื่นตรวจดูเอกสารในแฟ้มคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์และผลงานหรือไม่
    (16) การลงนามในคำขอให้เจ้าของลิขสิทธิ์หรือตัวแทนเป็นผู้ลงนาม

2. ใบต่อท้ายคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ ในกรณีที่ข้อมูลที่กรอกในคำขอ(ลข.01)มีจำนวนมาก และผู้ขอไม่อาจกรอกข้อมูลได้ครบถ้วนในแต่ละข้อ เช่น ในกรณีที่มีเจ้าของลิขสิทธิ์ ตัวแทน ผู้สร้างสรรค์ร่วมมากกว่า 1 คน ผู้ขอสามารถระบุข้อมูลเพิ่มเติมได้ในใบต่อท้ายฯ ผู้ลงนามในใบต่อท้าย คือ เจ้าของลิขสิทธิ์หรือตัวแทน
3. แบบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ผลงานโดยย่อ  ให้ระบุวิธีการและขั้นตอนในการสร้างสรรค์ผลงานโดยย่อหรือแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน ผู้ลงนามในแบบแสดงรายละเอียดการสร้างสรรค์ผลงานโดยย่อ คือ เจ้าของลิขสิทธิ์หรือตัวแทน
4. หนังสือรับรองความเป็นเจ้าของงานลิขสิทธิ์ ให้ระบุชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่อยู่ ทะเบียนนิติบุคคล (ถ้ามี) ประเภทของงานลิขสิทธิ์ ชื่อผลงาน และระบุวันที่ยื่นคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ ผู้ลงนามในหนังสือรับรองความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ คือ เจ้าของลิขสิทธิ์เท่านั้น
5. ผลงานลิขสิทธิ์ที่ใช้ยื่นประกอบคำขอ 

  • วรรณกรรม เช่น ให้ใช้สำเนาปกหนังสือ และสำเนาเอกสาร 5 หน้าแรก และ 5 หน้าสุดท้ายหรือแผ่นซีดีที่บรรจุผลงาน (ถ้ามี)
  • โปรแกรมคอมพิวเตอร์  เช่น  สำเนา Source Code จำนวน 5 หน้าแรกและ 5 หน้าสุดท้าย หรือส่งซีดีหรือแผ่นดิสก์บรรจุโปรแกรมคอมพิวเตอร์
  • นาฏกรรม เช่น แผ่นวีซีดี ภาพการแสดงพร้อมบรรยายประกอบท่าทางทุกขั้นตอน ฯลฯ
  • ศิลปกรรม เช่น ภาพถ่ายผลงาน หรือภาพร่างผลงาน หรือภาพพิมพ์เขียว ทั้งนี้หากเป็นงานประติมากรรม ให้ใช้ภาพถ่ายผลงานทั้ง 4 ด้าน [ด้านซ้าย ด้านขวา ด้านหน้า และด้านหลัง]
  • สิ่งบันทึกเสียง เช่น แผ่นซีดี  ฯลฯ
  • โสตทัศนวัสดุ เช่น แผ่นวีซีดี แผ่นดีวีดี ฯลฯ
  • ภาพยนตร์ เช่น แผ่นวีซีดี แผ่นดีวีดี ฯลฯ
  • ดนตรีกรรม เช่น แผ่นซีดีที่บรรจุผลงาน เอกสารเนื้อเพลงหรือโน้ตเพลง ฯลฯ
  • งานแพร่เสียงแพร่ภาพ เช่น แผ่นซีดี แผ่นวีซีดี แผ่นดีวีดี ฯลฯ
  • งานอื่นใดอันเป็นงานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ เช่น ภาพถ่ายของผลงาน แผ่นซีดีบรรจุผลงาน ฯลฯ 

6. เอกสารที่ใช้ประกอบการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์

    (1) สำเนาบัตรประชาชน  พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง (กรณีเป็นบุคคลธรรมดา)

    (2) สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคล ที่นายทะเบียนออกให้ไม่เกิน 6 เดือน ของเจ้าของลิขสิทธิ์  (กรณีเป็นนิติบุคคล)

    (3) หนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ 30 บาท พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง (กรณีมีการมอบอำนาจ)
    (4) หน่วยงานหรือองค์กรของรัฐบาลใช้สำเนาหนังสือแต่งตั้งผู้บริหารหน่วยงานหรือองค์กรฯ รวมทั้งสำเนาบัตรประชาชนของผู้ยื่นคำขอ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
    (5) มูลนิธิใช้สำเนาหนังสือการจดทะเบียนตั้งมูลนิธิ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง

 7. ช่องทางในการยื่นแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์

    (1) กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
    (2) สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด
    (3) ทางไปรษณีย์
    (4) สถานที่ที่กรมกำหนด เช่น ศูนย์บริการร่วมกระทรวงพาณิชย์  หน่วยบริการเคลื่อนที่  (MOBILE UNIT) ตามสถานที่ต่างๆ (มหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ)


แบบฟอร์มเกี่ยวกับการยื่นขอจดลิขสิทธิ์
คู่มือ คำแนะนำ วิธีการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์แทน

ระบบบริหารข้อมูลลิขสิทธิ์

ขั้นตอนการรับจด/แจ้งทรัพย์สินทางปัญญา สำหรับเครื่องหมายการค้า หน้า 9

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ โทร.1368 

[กลับไปด้านบน]


ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 29 กุมภาพันธ์ 2559

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ 2537 สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)

ศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐ