เว็บไซต์นี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี

6.การชำระและขอคืนภาษี


ส่วนนี้จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการชำระภาษี และการขอคืนภาษีในแต่ละประเภทซึ่งเกิดจากการประกอบกิจการ โดยผู้ประกอบการมีหน้าที่ยื่นและชำระภาษีตามกฎหมาย รวมทั้งมีสิทธิ์ขอรับเงินภาษีคืนกรณีที่จ่ายไว้เกิน

กลุ่มภาษีที่เกิดจากการประกอบธุรกิจ
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.)
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.)
3. ภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.)
4. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.)
การยื่นแบบแสดงรายการออนไลน์ (e-Filing) ของกรมสรรพากร

กลุ่มภาษีท้องถิ่น
5. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน
6. ภาษีป้าย
7. ภาษีบำรุงท้องที่

กลุ่มภาษีสินค้า และภาษีอื่นๆ
8. ภาษีสรรพสามิต
9. ภาษีรถ


1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.)

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และหมายความรวมถึงนิติบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลสามารถคำนวณได้ 2 รูปแบบ คือ การคำนวณจากกำไรสุทธิ และการคำนวณจากยอดรายได้ก่อนหักรายจ่าย นอกจากนี้ยังมีภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย และภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการจำหน่ายกำไรไปนอกประเทศด้วย


ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งจัดทำโดย กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ตามรายการด้านล่าง ดังนี้

1. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
2. นิติบุคคลที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้
3. ฐานภาษีของเงินได้นิติบุคคล
4. ภาษีเงินได้นิติบุคคลคำนวณจากกำไรสุทธิ
        4.1 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิ 
        4.2 รอบระยะเวลาบัญชี
        4.3 กำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
        4.4 เงื่อนไขการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ทวิ  
        4.5 เงื่อนไขการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (รายจ่ายต้องห้าม)
        4.6 อัตราภาษีและการคำนวณภาษี 
        4.7 การยื่นเบบแสดงรายการและชำระภาษี
5. ภาษีเงินได้นิติบุคคลคำนวณจากยอดรายได้ก่อนหักรายจ่าย
6. ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย
7. ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการจำหน่ายกำไรไปนอกประเทศ


บัญชีอัตราภาษี

สถานที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี

ช่องทางการชำระภาษี

ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการรับชำระภาษี
ช่องทางการชำระภาษีผ่านธนาคารต่าง ๆ

สอบถามเพิ่มเติมที่ กรมสรรพากร โทร.1161 หรือ Contact Us ของกรมสรรพากร


[กลับไปด้านบน]

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) (ภ.พ.)

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการ โดยจัดเก็บเฉพาะจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นตอนการผลิต การจำหน่าย หรือการให้บริการ สำหรับประเทศไทยมีการนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ในปี พ.ศ. 2535 เนื่องจากสามารถขจัดปัญหาภาษีซ้ำซ้อน มีความเป็นกลางทางเศรษฐกิจ เอื้ออำนวยต่อการลงทุน การส่งออก และมีกลไกป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี โดยประเทศไทยมีการกำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ร้อยละ 10 แต่ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาลดเหลือร้อยละ 7


ผู้ประกอบการสามารถศึกษารายละเอียดได้ตามหัวข้อด้านล่าง เพื่อพิจารณาว่ากิจการของตนนั้น เข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ รวมทั้งหลักเกณฑ์ในด้านอื่น ๆ
1. ผู้มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและกำหนดเวลาการจดทะเบียน
2. ผู้ประกอบกิจการที่ได้รับการยกเว้นแต่มีสิทธิขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
3. ผู้ประกอบกิจการที่ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
4. วิธีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
5. ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
6. การแจ้งเปลี่ยนแปลงการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
7. หน้าที่ของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
8. กำหนดโทษการปฏิบัติฝ่าฝืนเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
9. ใบกำกับภาษี
        9.1 การออกใบกำกับภาษีด้วยกระดาษ
       9.2 ประเภทของใบกำกับภาษี
       9.3 ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์

10. สำหรับผู้ประกอบการส่งออก

แบบคำร้อง/คำขอและแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม

ดาวน์โหลดแบบคำร้อง/คำขอ

ดาวน์โหลดแบบแสดงรายการภาษี


สถานที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี

ช่องทางการชำระภาษี

ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการรับชำระภาษี
ช่องทางการชำระภาษีผ่านธนาคารต่าง ๆ

สอบถามเพิ่มเติมที่ กรมสรรพากร โทร.1161 หรือ Contact Us ของกรมสรรพากร


[กลับไปด้านบน]

3. ภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.)

ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรประเภทหนึ่ง จัดเก็บจากการประกอบกิจการเฉพาะอย่างแทนภาษีการค้าที่ถูกยกเลิก ภาษีธุรกิจเฉพาะเริ่มใช้บังคับใน พ.ศ.2535 พร้อมกันกับภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยประมวลรัษฎากรได้กำหนดกิจการประเภทต่าง ๆ ที่จะต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะไว้ ผู้ประกอบการสามารถศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ได้จากหัวข้อด้านล่าง

1. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
2. การประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
3. กิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
4. ฐานภาษีและอัตราภาษี

5. หน้าที่ของผู้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
6. การยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ
7. การขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะ
8. กำหนดเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.ธ.40)
9. สถานที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี


ช่องทางการชำระภาษี

ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการรับชำระภาษี
ช่องทางการชำระภาษีผ่านธนาคารต่าง ๆ

สอบถามเพิ่มเติมที่ กรมสรรพากร โทร.1161 หรือ Contact Us ของกรมสรรพากร


[กลับไปด้านบน]

4. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.)

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นวิธีหนึ่งของผู้มีเงินได้โดยกฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้ในบางกรณีทำหน้าที่คำนวณหักเงิน ซึ่งตนมีหน้าที่จ่ายให้แก่ผู้รับเงินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดแล้วนำเงินนั้นส่งแก่รัฐบาลเงินที่ได้หักและนำส่งดังกล่าวถือเป็นเครดิตในการเสียภาษีเงินได้ของผู้รับเงินเมื่อถึงกำหนดเวลายื่นรายการเสียภาษี ถ้ากรณีใดไม่มีกฎหมายกำหนดให้หักภาษีผู้จ่ายเงินได้ก็ไม่ต้องหักภาษีแต่อย่างใด

ผู้ประกอบการสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายได้ตามหัวข้อด้านล่าง

1. ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

2. กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย รวมทั้งอัตราการหักภาษีในกรณีต่าง ๆ 

3. โปรแกรมคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย


ช่องทางการชำระภาษี

ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการรับชำระภาษี
ช่องทางการชำระภาษีผ่านธนาคารต่าง ๆ


การยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านอินเตอร์เน็ต (e-Filing) ของกรมสรรพากร

ปัจจุบันกรมสรรพากรได้ให้บริการการยื่นแบบภาษีผ่านอินเตอร์เน็ต เพื่อเป็นการอานวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษี โดยสามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีได้ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยจะได้รับขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษี การชาระภาษี และการนำส่งภาษีออกไปอีก 8 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดการใช้กระดาษสนับสนุนโครงการร่วมชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของกรมสรรพากร (RD Carbon Credit) โดยมีขั้นตอนการสมัครใช้บริการเพียงไม่กี่ขั้นตอน โดยนิติบุคคลที่สนใจใช้ บริการจะต้องดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

1. สมัครสมาชิกยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ต โดยกรอกแบบฟอร์มตามแบบ ภ.อ.01 ให้ครบถ้วนแล้วกดปุ่ม "ตกลง"
2. เลือก "ช่องทางการขำระภาษี" ที่ประสงค์จะเลือกใช้
3. สั่งพิมพ์แบบ ภ.อ.01 ที่ระบุหมายอ้างอิงการลงทะเบียนและข้อตกลงการยื่นแบบฯ เพื่อให้กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตรานิติบุคคล (ถ้ามี) ทุกหน้า
4. เตรียมเอกสารที่ใช้ประกอบในการยื่นแบบคำขอยื่นแบบและชำระภาษีผ่านอินเตอร์เน็ท ภ.อ.01 ดังนี้

        4.1 ข้อตกลงการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
        4.2 กรณีเป็นนิติบุคคล ต้องแนบสำเนา หรือภาพถ่ายหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทฉบับปัจจุบันที่มีระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทได้ลงลายมือชื่อและภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือใบสำคัญคนต่างด้าวของผู้มีอำนาจผูกพันกับนิติบุคคลนั้น โดยผู้มีอำนาจดังกล่าวได้ลงลายมือชื่อรับรองในภาพถ่ายด้วย
        4.3 กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำการแทน ต้องจัดทำหนังสือมอบอำนาจพร้อมแนบภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจที่ได้ลงลายมือชื่อรับรองในภาพถ่าย 

5. ภายใน 15 วัน หลังจากที่ลงทะเบียนตามแบบ ภ.อ.01 ในเว็บไซต์แล้ว ให้นำเอกสารประกอบการสมัครขอใช้บริการตามข้อ 4 ยื่นที่
        สำนักบริหารการเสียภาษีทางอิเล็กทรอกนิกส์ กรมสรรพากร ชั้น 27 โดยจะได้รับ บัญชีผู้ใช้และรหัสผ่าน ในวันที่นำเอกสารมายื่น
        สำนักงานสรรพากรพื้นที่ (จังหวัด) กรณีสถานประกอบการตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร โดยจะได้รับ บัญชีผู้ใช้และรหัสผ่าน ทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ที่ลงทะเบียน
6. การอนุมัติให้ใช้บริการ "ยื่นแบบ และชำระภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต" กรมสรรพากรจะแจ้งผลการอนุมัติให้ยื่นแบบและชำระภาษีผ่านอินเทอร์เน็ตทาง e-mail address ที่ได้แจ้งไว้ในการลงทะเบียนหรือตรวจสอบได้ที่นี่

ระบบ e-Filing เพื่อยื่นแบบแสดงรายการทางอิเล็กทรอนิกส์
สอบถามเพิ่มเติมที่ กรมสรรพากร โทร.1161


[กลับไปด้านบน]

5. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

กฎหมายกำหนดให้เจ้าของโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ณ สำนักงานเขต ซึ่งโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นตั้งอยู่ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยภาษีโรงเรือนและที่ดินคิดอัตราค่าภาษีร้อยละ 12.5 ของค่ารายปี 

ค่ารายปี หมายถึง จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นให้เช่า ให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่ มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช้จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากแจ้งของทรัพย์สินดำเนินการเอง หรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคำนึงถึงลักษณะทรัพย์สินขนาด พื้นที่ ทำเล ที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้น ได้รับประโยชน์
หลักฐานที่ใช้ประกอบการยื่นแบบภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2)
  1. โฉนดที่ดิน ที่ปลูกสร้างโรงเรือน
  2. หนังสือสัญญาซื้อขาย , ให้เช่า ที่ดิน หรือ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง
  3. ใบอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคาร ใบอนุญาตให้ใช้อาคาร
  4. ใบให้เลขหมายประจำบ้าน
  5. สำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของโรงเรือน สำเนาทะเบียนบ้านของโรงเรือนที่พิกัดภาษี
  6. บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรข้าราชการ หรือบัตรพนักงานรัฐวิสาหกิจ
  7. เลขประจำตัวผู้เสียภาษี / เลขทะเบียนการค้า
  8. หลักฐานการเปิดดำเนินกิจการ เช่น หนังสือรับรองจดทะเบียน ทะเบียนการค้า ทะเบียนพาณิชย์
  9. สำเนางบการเงิน (กรณีเป็นนิติบุคคล)
  10. หลักฐานของสรรพากรเช่น ภ.พ. 01 ,ภ.พ. 09, ภ.พ. 20
  11. ใบอนุญาตตั้งและ / หรือประกอบกิจการโรงงาน
  12. ใบอนุญาตติดตั้งเครื่องจักร
  13. ใบอนุญาตของฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล
  14. ใบเสร็จค่าติดตั้งมิเตอร์น้ำประปา ไฟฟ้า
  15. สัญญาเช่าโรงเรือนที่พิกัดภาษี
  16. หนังสือมอบอำนาจ (กรณีไม่สามารถยื่นแบบได้ด้วยตนเองพร้อมติดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย)
  17. หลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์โรงเรือนที่พิกัดภาษี
หมายเหตุ ให้ผู้รับประเมิน หรือเจ้าของโรงเรือน ถ่ายสำเนาหลักฐาน เอกสารที่เกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้นพร้อมลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องกำกับทุกฉบับมาขอรับแบบยื่นภาษีโรงเรือนและที่ดินได้ที่สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร

สอบถามเพิ่มเติม
สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร โทร.1555 หรือ ค้นหาที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ของสำนักงานเขต
สำหรับพื้นที่นอกกรุงเทพมหานคร ติดต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นั้นๆ หรือค้นหาที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

6. ภาษีป้าย

ภาษีป้าย คือ ภาษีที่จัดเก็บจากป้ายโฆษณาสินค้าต่างๆ
ป้ายที่ต้องเสียภาษี ได้แก่ ป้ายที่แสดงชื่อ ยี่ห้อหรือเครื่องหมาย ที่ใช้ในการประกอบการค้าหรือ ประกอบกิจการอื่น เพื่อหารายได้หรือโฆษณาการค้าหรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะได้แสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใดๆ ด้วยอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก จารึก หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่น
ป้ายที่ไม่ต้องเสียภาษี
  1. ป้ายที่แสดงไว้ ณ โรงมหรสพและบริเวณของโรงมหรสพนั้นเพื่อโฆษณามหรสพ
  2. ป้ายที่แสดงไว้ที่สินค้าหรือสิ่งที่ห่อหุ้มหรือบรรจุสินค้า
  3. ป้ายที่แสดงไว้บริเวณงานที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว
  4. ป้ายที่แสดงไว้ที่คนหรือสัตว์
  5. ป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นหรือภายในอาคารซึ่งเป็นที่รโหฐาน ทั้งนี้เพื่อหารายได้และแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกิน 3 ตารางเมตรที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่รวมถึงป้ายตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์
  6. ป้ายของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
  7. ป้ายขององค์การที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นๆ และหน่วยงานที่นำรายได้ส่งรัฐ
  8. ป้ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการสหกรณ์และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
  9. ป้ายของโรงเรียนเอกชน ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่แสดงไว้ ณ อาคาร หรือบริเวณของโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น
  10. ป้ายของผู้ประกอบการเกษตรซึ่งค้าผลผลิตอันเกิดจากการเกษตรของตน
  11. ป้ายของวัดหรือผู้ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนาหรือการกุศลสาธารณะโดยเฉพาะ
  12. ป้ายของสมาคมหรือมูลนิธิ
  13. ป้ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
    ปัจจุบันมีกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ให้เจ้าของป้ายไม่ต้องเสียภาษีป้ายสำหรับ
    13.1 ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ รถบดถนน หรือรถแทรกเตอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
    13.2 ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ล้อเลื่อนตามกฎหมายว่าด้วยล้อเลื่อน
    13.3 ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ยานพาหนะนอกเหนือจาก (13.1) และ (13.2) โดยมีพื้นที่ไม่เกินห้าร้อยตารางเซนติเมตร
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย คือ เจ้าของป้าย แต่ในกรณีที่ปรากฏแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ว่าไม่มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) สำหรับป้ายใด เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจหาตัวเจ้าของป้ายนั้นได้ ให้ถือว่าผู้ครอบครองป้ายนั้นเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย ถ้าไม่อาจหาตัวผู้ครอบครองป้ายนั้นได้ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร หรือที่ดินที่ป้ายนั้นติดตั้งหรือแสดงอยู่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายตามลำดับและให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมินภาษีเป็นหนังสือไปยังบุคคลดังกล่าว
ในกรณีที่เจ้าของป้ายอยู่นอกประเทศไทยให้ตัวแทนหรือผู้แทนในประเทศมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายแทนเจ้าของป้ายถ้าเจ้าของตายหรือไม่อยู่ เป็นคนสาบสูญ เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถให้ผู้จัดการมรดก ผู้ครอบครองทรัพย์มรดกไม่ว่าจะเป็นทายาทหรือผู้อื่น ผู้จัดการทรัพย์สิน ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณีมีหน้าที่ปฏิบัติการแทนเจ้าของป้าย

กำหนดระยะเวลาให้ยื่นแบบแสดงรายการ ให้เจ้าของป้ายซึ่งจะต้องเสียภาษีป้าย ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) ณ ฝ่ายรายได้สำนักงานเขตซึ่งป้ายนั้นติดอยู่ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี ป้ายที่ติดตั้งใหม่หรือมีการเปลี่ยนแปลง หลังจากเดือนมีนาคมให้ยื่นแบบภายใน 15 วัน นับแต่วันติดตั้งหรือแสดงป้าย หรือนับตั้งแต่วันเปลี่ยนแปลงแก้ไขแล้วแต่กรณีให้เจ้าของป้ายมีหน้าที่เสียภาษีโดยเสียเป็นรายปี ยกเว้นป้ายที่เริ่มติดตั้งหรือแสดงในปีแรกให้เสียภาษีป้ายตั้งแต่วันเริ่มติดตั้ง หรือแสดงจนถึงวันสิ้นปีและคิดภาษีป้ายเป็นรายงวด งวดละ 3 เดือน ของปีโดยเริ่มเสียภาษีป้ายตั้งแต่งวดที่ติดตั้งป้ายจนถึงงวดสุดท้ายของปี
•  กรณีป้ายโฆษณาที่ติดตั้งใหม่ ให้ยื่นแบบ (ภ.ป.1) ภายใน 15 วัน
•  กรณีป้ายที่ชำระค่าภาษีป้ายต่อเนื่องทุกปี ให้ยื่นแบบ (ภ.ป. 1) ได้ตั้งแต่ เดือนมกราคม ถึง เดือนมีนาคม ของทุกปี
•  กรณีป้ายที่ชำระค่าภาษีป้ายประจำปีแล้วต้องการเปลี่ยนแปลงป้าย ให้มาแจ้ง ภายใน 15 วัน
•  หากท่านปลดป้ายลงเนื่องจากเลิกกิจการกรุณาแจ้งให้ทราบภายในเดือนธันวาคม ของทุกปี

ฐานภาษีและอัตราภาษี
ฐานภาษีให้คิดจากขนาดกว้างคูณยาวของป้ายและอัตราภาษีให้คิดจากประเภทของป้ายเช่น เป็นอักษรไทย หรือต่างประเทศ หรือรูปภาพ
กรณีป้ายมีขอบเขตกำหนดไว้ การคำนวณพื้นที่ป้ายให้เอาส่วนกว้างที่สุดคูณด้วยส่วนยาวที่สุดเป็นขอบเขตของป้าย
กรณีที่ป้ายไม่มีขอบเขตกำหนดไว้ ให้ถือเอาตัวอักษร ภาพหรือเครื่องหมาย ที่อยู่ริมสุดเป็นขอบเขต เพื่อกำหนดส่วนที่กว้างที่สุดและยาวที่สุด แล้วคำนวณตามตาราง

เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบการยื่นแบบฯ
กรณีป้ายใหม่ให้เจ้าของป้ายยื่นแบบเสียภาษี พร้อมสำเนาหลักฐานและลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้อง ได้แก่
1. ใบอนุญาตติดตั้งป้าย, ใบเสร็จรับเงินค่าทำป้าย
2. สำเนาทะเบียนบ้าน
3. บัตรประจำตัวประชาชน / บัตรข้าราชการ / บัตรพนักงานรัฐวิสาหกิจ / บัตรประจำตัว ผู้เสียภาษี
4. กรณีป้ายเป็นนิติบุคคลให้แนบหนังสือรับรองสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท, ทะเบียนพาณิชย์และหลักฐานของสรรพากร เช่น ภ.พ. 01, ภ.พ. 09, ภ.พ. 20
5. หนังสือมอบอำนาจ (กรณีไม่สามรถยื่นแบบได้ด้วยตนเอง พร้อมติดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย)
6. หลักฐานอื่น ๆ ตามที่เจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ เช่น รูปถ่ายป้าย,วัดขนาดความกว้าง x ยาว
กรณีป้ายเก่า (ระยะเวลา ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน )
1. แบบเสียภาษีป้าย (ภ.ป.1)ของปีที่ที่แล้ว 
2. ใบเสร็จรับเงินการเสียภาษีครั้งสุดท้าย 
3. กรณีเจ้าของป้ายเป็นนิติบุคคลให้แนบหนังสือรับรองสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทพร้อมกับการยื่นแบบ (ภ.ป.1)

ขั้นตอนการยื่นแบบภาษีป้าย

การไม่ชำระค่าภาษีภายในกำหนดเวลา 
1.ไม่ยื่นแบบภายในเดือนมีนาคมหรือหลังติดตั้งป้าย 15 วัน เสียเงินเพิ่ม 10 % ของค่าภาษี 
2.ยื่นแบบไม่ถูกต้องค่าภาษีน้อยลงเสียเพิ่ม 10% ของค่าภาษีประเมินเพิ่มเติม 
3.ไม่ชำระเงินภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งประเมิน เสียเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือนของค่าภาษี 

การอุทธรณ์ภาษีป้าย เมื่อผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายได้รับแจ้งการประเมินแล้ว 
หากเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้องมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยยื่นอุทธรณ์ผ่านพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ฝ่ายรายได้สำนักงานเขตท้องที่ซึ่งยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ โดยต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน 
ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่ยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันหรือไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกไม่ยอมให้ถ้อยคำ หรือไม่ยอมส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องโดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบหมายมีอำนาจยกอุทธรณ์นั้นเสียได้ เมื่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้วินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จและแจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยเหตุผลเป็นหนังสือไปยังผู้อุทธรณ์ หากผู้อุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยฟ้องเป็นคดีต่อศาลภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เว้นแต่ในกรณีที่เป็นการยกอุทธรณ์ดังได้กล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตามการอุทธรณ์นั้นไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีป้าย เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่าให้รอคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาของศาลเสียก่อนให้ยื่นแบบตามแบบ ภ.ป.4
ในกรณีที่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลให้มีการลดจำนวนเงินที่ได้ประเมินไว้ ให้แจ้งผู้มีหน้าที่เสียภาษีทราบโดยเร็ว เพื่อมาขอรับเงินคืนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ผู้ใดเสียภาษีป้ายโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี หรือเสียเกินกว่าที่ควรต้องเสียมีสิทธิได้รับเงินคืน โดยยื่นคำร้องขอคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้เสียภาษีป้าย

เงินเพิ่ม
ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย เสียเงินเพิ่มนอกจากเงินที่ต้องเสียภาษีป้ายในกรณีและอัตรา ดังนี้
1. ไม่ยื่นแบบภายในเวลาที่กำหนด เสียเงินเพิ่ม ร้อยละสิบ ของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษี แต่ถ้ายื่นแบบก่อนได้รับใบแจ้งเตือนเสียเงินเพิ่ม ร้อยละ 5 ของจำนวนเงินที่ต้องเสีย
2. ยื่นแบบไม่ถูกต้องทำให้เสียภาษีน้อยลงเสียเงินเพิ่ม ร้อยละสิบ ของภาษีป้ายที่ประเมินเพิ่มเติม
3. ไม่ยื่นชำระภาษีป้าย ภายในเวลาที่กำหนดเสียเงินเพิ่ม ร้อยละสอง ต่อเดือนของจำนวนเงิน ที่ต้องเสียภาษีป้าย

บทกำหนดโทษ
1. จงใจแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่ห้าพันถึงห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ป้ายที่ติดตั้งบนอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลอื่น และมีพื้นที่เกินสองตารางเมตร ต้องมีชื่อและที่อยู่เจ้าของป้ายเป็นตัวอักษรไทยชัดเจนที่มุมขวาด้านล่างของป้าย หากไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับวันละหนึ่งร้อยลาททุกวัน ตลอดระยะเวลาที่กระทำความผิด
3. ไม่แจ้งการรับโอนป้ายภายในสามสิบวัน นับแต่วันรับโอนหรือไม่แสดงหลักฐานการเสียภาษีป้ายไว้ ณ ที่เปิดเผยต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท
4. ขัดขวางการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเป็นหนังสือเรียกมาให้ถอยคำหรือให้ส่งบัญชีหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีป้ายมาตรวจสอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
5. จงใจไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท

สอบถามเพิ่มเติม
สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร โทร.1555 หรือ ค้นหาที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ของสำนักงานเขต
สำหรับพื้นที่นอกกรุงเทพมหานคร ติดต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นั้นๆ หรือค้นหาที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

7. ภาษีบำรุงท้องที่

ภาษีบำรุงท้องที่ คือ ภาษีที่จัดเก็บที่ดินที่ใช้ประโยชน์เพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัย ทำการเกษตร และที่ดินว่างเปล่า
ที่ดินที่ไม่ต้องเสียภาษี
  1. ที่ดินที่เป็นที่ตั้งพระราชวังอันเป็นส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
  2. ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐหรือสาธารณะ โดยมิได้หาผลประโยชน์
  3. ที่ดินของราชการส่วนท้องถิ่นที่ใช้ในกิจการของราชการส่วนท้องถิ่นหรือสาธารณะโดยมิได้หาประโยชน์
  4. ที่ดินที่ใช้เฉพาะการพยาบาลสาธารณะ การศึกษา หรือการกุศลสาธารณะ
  5. ที่ดินที่ใช้เฉพาะศาสนกิจศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของวัด ไม่ว่าจะใช้ประกอบศาสนกิจศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือไม่ หรือที่ศาลเจ้าโดยมิได้หาผลประโยชน์
  6. ที่ดินที่ใช้เป็นสุสานและฌาปนสถานสาธารณะ โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน
  7. ที่ดินที่ใช้ในการรถไฟ การประปา การไฟฟ้า หรือการท่าเรือของรัฐ หรือที่ใช้เป็นสนามบินของรัฐ
  8. ที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินอยู่แล้ว
  9. ที่ดินของเอกชนเฉพาะส่วนที่เจ้าของที่ดินยินยอมให้ทางราชการจัดใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์โดยเจ้าของที่ดินมิได้ใช้หรือหาผลประโยชน์ในที่ดินเฉพาะส่วนนั้น
  10. ที่ดินที่เป็นที่ตั้งที่ทำการขององค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ หรือองค์การระหว่างประเทศอื่นในเมื่อประเทศไทยมีข้อผูกพันให้ยกเว้นตามอนุสัญญาหรือความตกลง
  11. ที่ดินที่เป็นที่ตั้งที่ทำการของสถานทูต หรือสถานกงสุล ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักถ้อยที่ถ้อยปฏิบัติต่อกัน
  12. ที่ดินตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ฐานภาษีและอัตราภาษี
ฐานภาษี คือ ราคาปานกลางที่ดินที่คณะกรรมการซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งได้กำหนดขึ้น ปกติให้เสียภาษีตามบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ท้ายพระราชบัญญัติ โดยจะกำหนดตามที่ตั้งที่ดิน เช่น ที่ดินที่ติดถนน ตรอก ซอย และอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันราคาปานกลางที่ดินที่ใช้ประเมินภาษีบำรุงท้องที่เป็นราคาที่ใช้ประเมินภาษีตั้งแต่ปี 2521-2524 โดยราคาต่ำสุด คือ ราคาปานกลางไร่ละ 1,600 บาท อัตราภาษีไร่ละ 8 บาท และสูงสุดคือราคาปานกลางไร่ละ 9,000,000 บาท อัตราภาษีไร่ละ 22,495 บาท ที่ดินที่ใช้ประกอบกสิกรรมเฉพาะประเภทไม้ล้มลุกให้เสียกึ่งอัตรา แต่ถ้าเจ้าของที่ดินประกอบกสิกรรมประเภทไม้ล้มลุกนั้นด้วยตนเอง ให้เสียอย่างสูงไม่เกินไร่ละ 5 บาท และที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพของที่ดินให้เสียเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่า นอกจากนี้ยังมีค่าลดหย่อน ในกรณีที่เจ้าของที่ดินที่ใช้ปลูกอยู่อาศัยของตนเอง ใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ของตนเองและประกอบกสิกรรมของตนเอง เช่น ทำนา ทำสวน จะมีสิทธิ์ได้รับการลดหย่อนไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ในอัตราที่แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ สำหรับที่ดินในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติมที่นี่ สำหรับที่ดินนอกเขตกรุงเทพมหานคร สามารถติดต่อที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบการยื่นแบบ
ให้เจ้าของที่ดินในวันที่ 1 มกราคมของปีใด มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ในปีนั้นและยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท.5) ต่อเจ้าพนักงานประเมิน ณ สำนักงานเขตที่ที่ดินตั้งอยู่
กรณีที่ดินรายใหม่ หรือปีที่มีการตีราคาปานกลาง ให้เจ้าของที่ดินยื่นแบบเสียภาษีภายในเดือนมกราคมของปีที่มีการตีราคาปานกลางที่ดินหรือทุกรอบระยะเวลา 4 ปี หรือภายใน 30 วัน กรณีที่ได้กรรมสิทธิ์ ใหม่หรือเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ โดยยื่นแบบ ภ.บ.ท. 5 พร้อมสำเนาหลักฐานประกอบพิจารณาได้แก่ 
  1. โฉนดที่ดิน
  2. สำเนาทะเบียนบ้าน
  3. บัตรประจำตัวประชาชน / บัตรข้าราชการ / บัตรพนักงานรัฐวิสาหกิจ / บัตรประจำตัว ผู้เสียภาษี
  4. กรณีเจ้าของที่ดินเป็นนิติบุคคลให้แนบหนังสือรับรองสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท
  5. หนังสือมอบอำนาจ (กรณีไม่สามารถยื่นแบบได้ด้วยตนเอง พร้อมติดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย)

กรณีที่ดินรายเก่า ให้เจ้าของที่ดินชำระเงินค่าภาษีภายในเดือนเมษายนของทุกปี และเพื่อความสะดวก รวดเร็วในการติดต่อ โปรดนำใบเสร็จรับเงินการเสียภาษีครั้งสุดท้ายมาแสดงด้วย
ถ้าที่ดินมีการเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนแปลงเจ้าของอันเป็นเหตุให้อัตราภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินเปลี่ยนแปลงไปต้องแจ้งต่อพนักงานประเมิน ภายในสามสิบวัน นับตั้งแต่วันที่มีเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลง

ขั้นตอนการยื่นแบบภาษีบำรุงท้องที่

การอุทธรณ์ภาษีบำรุงท้องที่ เจ้าของที่ดินมีสิทธิอุทธรณ์ได้ 2 กรณี คือ
กรณีไม่เห็นพ้องด้วยกับราคาปานกลางของที่ดิน และกรณีที่ได้รับแจ้งการประเมินภาษีบำรุงท้องที่แล้วเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้อง การยื่นอุทธรณ์ให้อุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยยื่นต่อเจ้าพนักงานภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้
1. เจ้าของที่ดินมีสิทธิอุทธรณ์ การตีราคาปานกลางของที่ดิน ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศ ราคาปานกลางของที่ดิน
2. หากเห็นว่า การประเมินไม่ถูกต้อง สามารถอุทธรณ์ต่อ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ณ สำนักงานเขต ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน
3. ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร พิจารณาอุทธรณ์ แล้วแจ้งเป็นหนังสือไป ยังผู้อุทธรณ์
4. ถ้าไม่พอใจ ผลการพิจารณา สามารถยื่นฟ้องต่อศาล ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
ในกรณีที่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลให้มีการลดจำนวนเงินที่ได้ประเมินไว้ให้แจ้งผู้มีหน้าที่เสียภาษีทราบโดยเร็ว เพื่อมาขอรับเงินคืนโดยยื่นคำร้องขอคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งผู้ใดเสียภาษีบำรุงท้องที่โดยที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสียหรือเสียเกินกว่าที่ควรต้องเสีย ผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินคืนโดยยื่นคำร้องขอคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้เสียภาษี

เงินเพิ่ม
ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ เสียเงินเพิ่มนอกจากเงินที่ต้องเสียภาษีในกรณีและอัตรา ดังนี้
1. ไม่ยื่นแบบภายในเวลาที่กำหนด เสียเงินเพิ่ม ร้อยละสิบ ของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษี แต่ถ้ายื่นแบบก่อนได้รับใบแจ้งเตือนเสียเงินเพิ่ม ร้อยละ 5 ของจำนวนเงินที่ต้องเสีย
2. ยื่นแบบไม่ถูกต้องทำให้เสียภาษีน้อยลงเสียเงินเพิ่ม ร้อยละสิบ ของภาษีป้ายที่ประเมินเพิ่มเติม
3. แจ้งจำนวนที่ดินไม่ถูกต้อง ทำให้เสียภาษีลดลง เสียเงินเพิ่มอีกหนึ่งเท่าของภาษีที่ประเมินเพิ่มเติม
4. ไม่ชำระภาษีภายในระยะเวลาที่กำหนด เสียเงินเพิ่มร้อยละ 24 ต่อปี ของจำนวนเงินที่ต้องเสีย

บทกำหนดโทษ
1. จงใจแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีบำรุงท้องที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. จงใจไม่มาหรือไม่ยอมชี้เขตหรือไม่ยอมแจ้งจำนวนเนื้อที่ดินต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ขัดขว้างเจ้าพนักงานที่เข้าไปทำการสำรวจที่ดินหรือปฏิบัติหน้าที่เพื่อเร่งรัดภาษีบำรุงท้องที่ค้างชำระต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ฝ่าฝืนต่อคำสั่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
5. หากมีความผิดและไม่ควรได้รับโทษถึงจำคุกให้จ่ายค่าปรับ ภายใน 30 วัน

สอบถามเพิ่มเติม
สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร โทร.1555 หรือ ค้นหาที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ของสำนักงานเขต
สำหรับพื้นที่นอกกรุงเทพมหานคร ติดต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นั้นๆ หรือค้นหาที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 


[กลับไปด้านบน]

8. ภาษีสรรพสามิต

ภาษีสรรพสามิต เป็นภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าและบริการซึ่งมีเหตุผลสมควรที่จะต้องรับภาระภาษีสูงกว่าปกติ เช่น บริโภคแล้วอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ และศีลธรรมอันดี มีลักษณะเป็นสินค้าและบริการที่ฟุ่มเฟือย หรือได้รับผลประโยชน์เป็นพิเศษจากกิจการของรัฐ ได้แก่
1. พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 : เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องดื่ม เรือ* รถยนต์ หินอ่อนและหินแกรนิตที่แปรรูปแล้ว* สนามกอล์ฟ ไนต์คลับและดิสโก้เธค สถานอาบน้ำหรืออบตัว ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมและเครื่องสำอาง น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน แก้วและเครื่องแก้ว พรมและสิ่งปูพื้นอื่นๆ รถจักรยานยนต์ แบตเตอรี่ สนามแข่งม้า สลากกินแบ่งฯ* กิจการโทรคมนาคม* (* ปัจจุบันยกเว้น)
2. พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 : สุราแช่ สุรากลั่น
3. พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ. 2509 : ยาสูบ
4. พ.ร.บ.ไพ่ พ.ศ. 2486 : ไพ่

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิต (ภาษีตัวสินค้า)
1. ผู้ประกอบอุตสาหกรรม
2. ผู้ประกอบกิจการสถานบริการ
3. ผู้นำเข้าซึ่งสินค้า
4. ผู้อื่นตามที่ พรบ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 กำหนด
    4.1 ผู้ดัดแปลงรถยนต์ ม.144 เบญจ
    4.2 เจ้าของคลังสินค้าทัณฑ์บน ม.42
    4.3 ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบกิจการสถานบริการอันตั้งขึ้นใหม่ โดยการควบเข้ากัน หรือผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรือผู้ประกอบกิจการสถานบริการที่รับโอนกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมเดิม ม.57
    4.4 ผู้ได้รับเอกสิทธิ์ตาม ม.102(3) สำหรับสินค้าที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมได้รับคืนหรือยกเว้นภาษี ม.12 วรรค 2(2)
    4.5 ผู้ได้รับสิทธิ์ยกเว้น หรือลดอัตราภาษีสำหรับสินค้านำเข้า ม.11 วรรค 2(2), (3)
    4.6 ผู้โอนและผู้รับโอน ที่ได้รับเอกสิทธิตาม ม.102(3) ที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมได้รับคืน หรือยกเว้นภาษี ม.12 วรรค 2 (1)
    4.7 ผู้โอน และผู้รับโอนสินค้านำเข้าที่ได้รับยกเว้น หรือลดอัตราภาษี ม.11 วรรค 2(1)
    4.8 ผู้จัดการมรดก หรือทายาท ผู้ได้รับมรดกสินค้านำเข้าที่ได้รับการยกเว้น หรือลดอัตราภาษี ม.11 วรรค 2(4)
    4.9 ผู้จัดการมรดก ทายาท หรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดก ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ ม.56
    4.10 ผู้ชำระบัญชี และกรรมการผู้อำนวยการ หรือผู้จัดการ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันเลิกกิจการ ในกรณีที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรือผู้ประกอบกิจการสถานบริการเป็นนิติบุคคล และเลิกกิจการ โดยมีการชำระบัญชี ม.58
    4.11 ผู้กระทำความผิดตาม ม.161, ม.162

ผู้ประกอบการสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีสรรพสามิตได้จากเว็บไซต์คลินิกภาษีกระทรวงการคลัง, เว็บไซต์แหล่งความรู้เกี่ยวกับภาษีสรรพสามิต กรมสรรพสามิต, เอกสารเผยแพร่ของกรมสรรพสามิต

กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง โทร.1713 หรือ 02-6686618 หรือที่นี่
ค้นหาสำนักงานสรรพสามิต

[กลับไปด้านบน]

9. ภาษีรถ

พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้กำหนดให้เจ้าของรถยนต์จะต้องเสียภาษีประจำปี ปัจจุบันได้มีการกำหนดอัตราภาษีรถยนต์แต่ละประเภท ดังนี้


ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกได้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนด้วยการเปิดช่องทางการชำระเงินที่หลากหลายมากขึ้น ผู้ประกอบการสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับช่องทางการชำระภาษีรถยนต์ ของกรมการขนส่งทางบกได้จากหัวข้อด้านล่าง เนื่องจากแต่ละช่องทาง อาจไม่รับชำระภาษีรถยนต์ในบางประเภท
ช่องทางการเสียภาษีประจำปี สำหรับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์:
การชำระภาษีรถยนต์ผ่านอินเทอร์เน็ต
สำนักงานขนส่งทุกแห่งทั่วประเทศ
ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
ห้างสรรพสินค้าที่เข้าร่วมโครงการ
บริการเลื่อนล้อต่อภาษี
เคาน์เตอร์เซอร์วิส

สอบถามเพิ่มเติม กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม โทร.1584 

[กลับไปด้านบน]
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 29 กุมภาพันธ์ 2559

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2567 ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ 2537 สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)

ศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐ